CLIENT TOPICSFrequently Asked Questions

ข้อมูลจาก เว็บไซต์กัญชาทางการแพทย์ (https://www.medcannabis.go.th)
Q : ปลดล็อคกัญชาคืออะไร ?

A :

  • ปลดล็อคกัญชา : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) 2562 ที่ออกเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 ไม่ได้ถอดพืชกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด ในประกาศระบุไว้ว่า ทุกส่วนของพืชกัญชา ทั้งใบ ดอก ยอด ผล รวมทั้งวัตถุหรือสารต่าง ๆ เช่น ยาง น้ำมัน ในพืชกัญชา รวมทั้งทุกส่วนของพืชกัญชงยังคงเป็นยาเสพติด แปลว่า การ “ปลดล็อค” กัญชา หมายถึง ปลดล็อคเรื่องสารสกัด* ไม่ใช่ปลดล็อคการปลูกได้อย่างเสรี ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ต้องศึกษาเงื่อนไขทางกฎหมาย
  • ปลดล็อคกัญชง : ในราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 ระบุว่า กัญชงเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา มีปริมาณสาร THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 1% ต่อน้ำหนักแห้ง นอกจากนี้ยังกำหนดนิยามของเมล็ดพันธุ์กัญชงว่ามีปริมาณสาร THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 1% ต่อน้ำหนักแห้ง ประกาศนี้เป็นจุดประสงค์เพื่อแยกกัญชาและกัญชงออกจากกัน เพื่อให้ง่ายต่อการกำกับการอนุญาตใช้กัญชาต่อไปในอนาคต และมุ่งส่งเสริมการปลูกกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชง สามารถค้นรายละเอียดได้

*ปลดล็อคเรื่องสารสกัด หมายถึง กฎหมายกำหนดว่าสารที่ไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้แก่ สาร CBD บริสุทธิ์ (มากกว่า หรือเท่ากับ 99% ที่มี THC เจือปนไม่เกิน 0.01%) เท่านั้น และสารสกัดกัญชาหรือกัญชงที่มี CBD เป็นหลัก และมี THC ไม่เกิน 0.2% ถูกจัดเป็นยา หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการควบคุมตามที่กฎหมายกำหนด

Q : กัญชากับกัญชง เหมือนกันหรือไม่ ?

A : พืชกัญชา (Cannabis) กับกัญชง (Hemp) มีถิ่นกำเนิดเดียวกัน อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ Cannabaceae และสกุลเดียวกันคือ Cannabis แต่ต่างสายพันธุ์ย่อย และกัญชงก็มีต่อมน้ำมันที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์น้อยกว่าพืชกัญชา ตั้งแต่อดีตมีการใช้ต้นกัญชงซึ่งให้เส้นใยคุณภาพในการเป็นวัสดุสิ่งทอ ปัจจุบันมีการนำเมล็ดกัญชงในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง กัญชงมีสาร cannabinoid ชนิด CBD สูงแต่มี THC ต่ำมาก

Q : ใครปลูกกัญชาได้บ้าง ?

A : ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุว่าผู้ที่สามารถปลูกกัญชาได้ ได้แก่ (1) หน่วยงานของรัฐ (2) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการสอน วิจัย ทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ (3) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์การเกษตร, วิสาหกิจชุมชน, วิสาหกิจสังคม ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา (4) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (เภสัชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย) ทั้งนี้ระยะ 5 ปี แรก การขออนุญาตปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยผู้ขออนุญาต กลุ่ม 3) 4) และ 5) ต้องดำเนินการร่วมกับผู้ขออนุญาตกลุ่ม 1) หรือ 2) (มาตรา 21)

Q : ปลูกกัญชงผิดกฎหมายหรือไม่ ?

A : ปัจจุบันรัฐบาลอนุญาตให้ปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต เนื่องจากต้นกัญชงให้ปริมาณเส้นใยในปริมาณที่คุณภาพสูงเหมาะกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระดาษ เมล็ดกัญชงมีโปรตีนสูงและน้ำมันในเมล็ดกัญชงมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดเดียวกันกับที่พบในน้ำมันปลา ผู้ที่สนใจปลูกจะต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้หน่วยงานรัฐ และจัดทำแผนการปลูกเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอใบอนุญาตการปลูกเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร สิ่งทอ กระดาษ น้ำมัน เมล็ดอาหาร โดยขอรับการสนับสนุนเมล็ดกัญชงที่ไม่สามารถเพาะพันธุ์ต่อได้ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.)

ค้นหาข้อมูลการปลูกกัญชงอย่างถูกกฎหมายได้ในลิงก์เหล่านี้

Q : จะซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์เองได้หรือไม่ ?

A : สารสกัดกัญชาหรือยากัญชา ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป แม้ผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยยากัญชา ก็ไม่สามารถซื้อสารสกัดกัญชาใช้เอง แต่ต้องผ่านการวางแผนการรักษาจากแพทย์ นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การรักษาด้วยสารสกัดกัญชา จะต้องผ่านการอบรม ก่อนจะจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้รับจากสถานที่ผลิตมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง โดยพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นก่อน เพราะยากัญชาไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการรักษาโรค

Q : โทษการครอบครองกัญชาที่ไม่ได้รับอนุญาต ?

A : กัญชาและกระท่อมยังคงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แต่สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ในกรณีคนกลุ่มอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตทำการปลูกหรือครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ถึง 10 กิโลกรัม จะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีที่มีไว้ครอบครองเกิน 10 กิโลกรัม ให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ต้องโทษจำคุก 1-15 ปี ปรับ 100,000-1,000,000 บาท

Q : ผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์มีกี่แบบ ?

A : กัญชาทางการแพทย์ก็เหมือนกับยาชนิดอื่นๆ ที่มีรูปแบบยาเตรียมและผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เช่น การสูดไอระเหยผ่านเครื่องพ่นไอระเหยทางการแพทย์, การให้ยาทางปากในรูปของสเปรย์ น้ำมันหยดใต้ลิ้น แคปซูล, การส่งยาผ่านผิวหนังในรูปของครีม แผ่นแปะผิวหนัง และในรูปของอาหาร (คุกกี้) แต่ละรูปแบบให้ปริมาณความเข้มของสารแคนนาบินอยด์ไม่เหมือนกัน และสนองความต้องการของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน วิธีการบริหารยาหรือรับกัญชาทางการแพทย์จึงขึ้นอยู่กับรูปแบบยาเตรียมหรือผลิตภัณฑ์กัญชาที่เลือกใช้ให้เหมาะกับอาการ

Q : ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยสามารถปรุงยากัญชาได้หรือไม่ ?

A : ผู้ที่สามารถปรุงยากัญชาได้

  • เป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การปรุงหรือสั่งจ่ายยา ต้องอยู่ภายใต้สถานพยาบาลของรัฐ หรือเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
  • หมอพื้นบ้านที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาผสม จากกระทรวงสาธารณสุขหรือหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขหรือสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้การรับรอง การสั่งจ่ายไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน แต่ต้องเป็นตำรับที่ได้รับการยอมรับแล้วเท่านั้น
Q : เงื่อนไขในการปรุงยาให้ผู้ป่วยเฉพาะรายสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยเป็นอย่างไร ?

A :

  • วัตถุดิบกัญชาต้อง “ไม่สามารถ” แยกเป็นช่อดอก ใบ เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด
  • สามารถใช้เครื่องยาที่ได้จากการนำกัญชามาผสมกับตัวยาอื่นอีก 1-2 ชนิด ที่สามารถเข้ารับตำรับกัญชาได้
  • หมอพื้นบ้านต้องระบุองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และต้องได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

Copyright 2021 Gancha Shop by Tipco. All Rights Reserved.